วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556


ภาษากับความเชื่อ
 
            ความเชื่อ คือ การยอมรับนับถือว่าเป็นความจริง  หรือมีอยู่จริง เป็นความมั่นใจต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งบางอย่างสืบทอดต่อกันเป็นเวลายาวนาน เป็นสิ่งที่มนุษย์หรือคนโบราณ ตอนที่ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีการพิสูจน์ถึงเรื่องนั้นๆ คนไทยมีความเชื่อด้านใด ก็จะสร้างคำขึ้นมาเรียกสิ่งนั้นๆ และแสดงวิถีปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและความรู้ คือความเชื่อเป็นความรู้ ถ้าความเชื่อนั้นเป็นความจริง และถ้าคนเชื่อมีการให้เหตุผลที่พียงพอ(ข้ออ้าง หลักฐาน แนวทางที่น่าเชื่อถือ)และมีเหตุผลที่จะเชื่อ และเป็นจริง
 
ไม้ชื่อมงคล
 ไม้ชื่อมงคลเป็นชื่อของพรรณไม้ที่มีเสียงพ้องกับความหมายที่เป็นมงคล คนโบราณเชื่อว่า  บ้านใดที่ปลูกพืชพรรณไม้ จำพวกนี้ ไว้ภายในบ้าน จะทำให้คนที่อาศัยอยู่  มีโชคลาภ หรือด้านอื่นๆ  ตามชื่อของพรรณไม้นั้น  ทำให้คนส่วนใหญ่ นิยมปลูกไม้ชื่อมงคล ไว้ประจำบ้านเป็นจำนวนมาก
 
ไม้มงคล ๙ ชนิด ที่ใช้วางศิลาฤกษ์
 
ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์นี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยใช้ไม้มงคล ๙ ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง ๙ ชนิด มีชื่อเป็นมงคลนาม ได้แก่ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ขนุน ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ทองหลาง ไม้ไผ่สีสุก ไม้ทรงบาดาล ไม้สัก ไม้พะยูง และไม้กันเกรา
 
 ๑ ราชพฤกษ์ (คูน ลมแล้ง)
  
 

หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา มั่นคง ค่ำคูน นิยมปลูกไว้ทางด้านหน้าของตัวบ้าน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นผลัดใบสูง ๘ – ๑๕ เมตร ออกดอกกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม            
ประโยชน์   ราก ฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ
 
  ไม้ขนุน
 
 

หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน นิยมปลูกไว้ทางด้านทิศเหนือของตัวบ้าน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น   ขนาดใหญ่ สูง ๑๕ – ๓๐ เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
ประโยชน์
   ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด
 
๓ ไม้ชัยพฤกษ์
 

หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น สูงถึง ๑๕ เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่   เรียงสลับ มีใบย่อย ๕ – ๑๕ คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง ๑.๕ – ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๕ – ๕ เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด
ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับ
  ดอกสวยงาม
 
  ไม้ทองหลาง
 

หมายถึง การมีทรัพย์สินเงิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น   ผลัดใบ สูง ๕ – ๑๐ เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่งออกดอก มกราคม - กุมภาพันธุ์
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ
 
๕ ไผ่สีสุก
 

หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา
ประโยชน์
  สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง และใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง
๖ ไม้ทรงบาดาล
         

หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม สูง ๓ – ๕ เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย ๔ – ๖ คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง ๑ – ๒ เซนติเมตร ยาว ๒.๕ – ๔ เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ – ๓ เซนติเมตร  ผล เป็นฝักแบน กว้าง ๑ – ๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๗ – ๒๐ เซนติเมตร
ประโยชน์
  ปลูกเป็นไม้ประดับ
 
๗ ไม้สัก
 

หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น   ขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน   ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น
ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพราะมีสารพวกเตคโตคริโนน
 
 
๘ ไม้พะยูง
 

หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น
ลักษณะทั่วไปไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๕ – ๒๕ เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่
ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด
 
๙ ไม้กันเกรา (มันปลา  ตำเสา)
 

หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น   ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
ประโยชน์
   เนื้อไม้ สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ
 
ไม้ชื่อมงคลที่นิยมปลูกไว้ในบ้าน
 

คนส่วนใหญ่อยากให้บ้านของตัวเองมีความร่มรื่น อยู่เย็นเป็นสุข หลายคนจึงมีความคิดจะปลูกต้นไม้มงคลไว้ภายในบ้าน เพื่อเอาเคล็ด เอาโชค ตามความเชื่อของคนโบราณที่บอกต่อกันมาช้านาน
 
 
 
 
ต้นมะขาม

          หากบ้านไหนต้องการให้ผู้อื่นเกรงขาม ตามความเชื่อให้ปลูกต้นมะขามไว้ทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อกันว่า ต้นมะขามจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเป็นที่น่าเกรงขามต่อผู้อื่น นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันคดีความและสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายอีกด้วย
 
ต้นกล้วย

          ต้นกล้วยเป็นต้นไม้ที่คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกไว้ในบ้าน เพราะนอกจากจะสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วย มาทำประโยชน์ได้มากมายแล้ว เขายังมีความเชื่อด้วยว่า การปลูกต้นกล้วยจะช่วยให้การทำงานราบรื่น คิดสิ่งใดทำสิ่งใดก็ง่าย
 
ต้นวาสนา

         หลาย ๆ บ้านนิยมปลูกต้นวาสนากัน เพราะชื่อเป็นมงคล จึงทำให้เชื่อกันว่า หากบ้านใดปลูกต้นวาสนาจะทำให้มีความสุข ความสมหวังในชีวิต และเป็นต้นไม้แห่งโชคลาภด้วย
ควรปลูกในวันอังคาร โดยให้ผู้หญิงเป็นผู้ปลูกจะดี เพราะชื่อวาสนาเป็นชื่อที่เหมาะกับสุภาพสตรี

ต้นแก้ว


          ไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม คนไทยนิยมปลูกไว้ริมรั้วบ้าน หรือปลูกลงในกระถางเพื่อประดับเพราะคำว่า "แก้ว" หมายถึงสิ่งของมีค่าที่คนนับถือบูชา ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า หากปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้าน จะทำให้สมาชิกในบ้านเป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์เหมือนแก้ว และมีคนรักดั่งแก้วตาดวงใจนั่นเอง

          เพื่อความเป็นสิริมงคล โบราณแนะนำให้ปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันออก และให้ปลูกในวันพุธ ตามความเชื่อที่ว่า การปลูกไม้ที่เอาประโยชน์ทางดอกแล้วจะเป็นมงคล
ต้นเข็ม
 

          ดอกเข็ม  เป็นสัญลักษณ์แทนความฉลาดหลักแหลม การปลูกต้นเข็มไว้ในบ้านที่คนโบราณเขาก็เชื่อว่า จะทำให้สมาชิกในบ้านมีความฉลาดเหมือนกับดอกเข็ม และยังช่วยให้มีปฏิภาณไหวพริบเอาตัวรอดได้ด้วย และกระตุ้นให้สนใจใฝ่หาความรู้มาเติมเต็มให้ตัวเองอยู่เสมอ

          หากต้องการจะปลูกต้นเข็ม โบราณแนะนำให้หาคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียนเป็นผู้ลงมือปลูก โดยเลือกปลูกทางทิศตะวันออก และปลูกในวันพุธ จะช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่คนในบ้าน

ต้นกระดังงา


          ต้นกระดังงา ก็คือต้นไม้มงคลตามความเชื่อของคนโบราณที่ปรารถนาให้ลูกหลานมีชื่อเสียงก้องกังวานไปไกล มีลาภยศสรรเสริญ มีเงินทอง ผู้คนทั่วไปนับหน้าถือตา คนเชื่อกันว่า เสียงที่ดัง กระดังงา นั้นไพเราะเพราะพริ้งดังก้องไปถึงไกล

          คนไทยยังเชื่อกันว่า กระดังงาเป็นต้นไม้ที่ช่วยเสริมเสน่ห์ให้สมาชิกในบ้านให้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป และมีชีวิตที่หอมหวนเหมือนกับกลิ่นหอมของดอกกระดังงา ควรปลูกในวันพุธ ไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน เพื่อให้แสงอาทิตย์สาดส่อง จะช่วยให้ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว เพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ตัวบ้าน และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้าน

ต้นโป๊ยเซียน

          เป็นต้นไม้แห่งโชคลาภที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก บางคนยัเชื่อว่า โป๊ยเซียน เป็นต้นไม้เสี่ยงทาย หากบ้านไหนปลูกต้นโป๊ยเซียนออกดอกได้ 8 ดอก ก็จะมีโชคลาภ เงินทอง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เพราะโป๊ยเซียนเป็นตัวแทนของเทพเจ้า 8 องค์ ที่จะนำความเจริญรุ่งเรือง และช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ที่เป็นเจ้าของ

          ทั้งนี้ ตามเคล็ดปฏิบัติการปลูกต้นโป๊ยเซียน ควรจะให้ผู้ที่มีอายุ หรือญาติผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือมาลงมือปลูกให้ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นทิศมงคลของต้นโป๊ยเซียน จะยิ่งเสริมความเป็นสิริมงคลให้ผู้อยู่อาศัย และควรปลูกในวันพุธ เพื่อให้ดอกที่ออกงดงามตามความเชื่อคนโบราณนั่นเอง
 


ต้นโกสน

          นิยมเป็นปลูกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะภายในพระราชวัง และวัด เพื่อหวังให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข หากนำมาปลูกในบ้าน ก็จะทำให้ครอบครัวมีแต่ความสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งใด ๆ นั่นเพราะคนสมัยก่อนเชื่อกันว่า คำว่า "โกสน" พ้องเสียงใกล้เคียงกับคำว่า "กุศล" ซึ่งหมายถึงการสร้างบุญ สร้างสิ่งที่ดีงามเป็นบุญเป็นกุศล

          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล คนโบราณก็ยังแนะนำให้ปลูกต้นโกสนในวันอังคาร และปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของบ้านเพื่อรับแสงแดดยามเช้า จะทำให้เห็นสีสันของใบที่สวยสด ดึงดูดสายตาของผู้ที่พบเห็น
 

ต้นโมก


          มีความเชื่อว่าการปลูกต้นโมก ที่หมายถึงผู้ที่หลุดพ้นด้วยทุกข์ทั้งปวง จะนำเอาความสุขกายสบายใจ ความปลอดภัยมาให้สมาชิกในบ้าน เพราะดอกโมกมีสีขาวบริสุทธิ์สะอาด ส่งกลิ่นหอมทั้งวัน เพราะเชื่อว่าจะต้นโมกสามารถปกป้องคุ้มครองสิ่งชั่วร้ายให้สมาชิกในบ้านได้

         
เคล็ดลับสำหรับการปลูกต้นโมกก็คือ ให้ปลูกในวันพุธ เพราะเป็นต้นไม้ที่ปลูกเพื่อเอาคุณตามความเชื่อของคนโบราณ จะช่วยให้ต้นโมกเจริญงอกงามได้ดี และปกป้องคุ้มครองคนในบ้านได้ ซึ่งทิศที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกต้นโมกก็คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
 
ต้นบานไม่รู้โรย


         เพราะชื่อบานไม่รู้โรยเป็นชื่อมงคล หมายความถึง ความยั่งยืน ความอดทน และไม่ย่อท้อ หากเปรียบกับความรักก็เหมือนความรักที่ยั่งยืน ช่วยให้คู่รักมีความผูกพันมั่นคงต่อกันไปนาน ๆ ปราศจากความโรยรา หรือผันแปรตลอดไปนั่นเอง
 
อ้างอิง
 
ต้นไม้ชื่อมงคล (ออนไลน์). ที่มา : http://www.kapook.com/ [วันที่ 17 กรกฎาคม 2556]
ไม้มงคล (ออนไลน์). ที่มา : www.mahamodo.com [วันที่ 17 กรกฎาคม 2556]
 
 

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556



สามัคคีเภทคำฉันท์
ที่มา นพรัตน์  จิณโรจน์ และคณะ






www.weloveshopping.com 



ผู้ประพันธ์            นายชิต  บุรทัต
ภาพจาก topicstock.pantip.com 

ประวัติ   นายชิต  บุรทัต  เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน  พ.ศ. 2435  เป็นบุตรนายชู  นางปริก  ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากบิดาซึ่งเป็นเปรียญ 5 ประโยค  และได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นแห่งแรก  แล้วย้ายมาเรียนต่อจนสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ที่โรงเรียนวัดสุทัศน์  ขณะนั้นอายุได้ 15 ปี  บิดาจึงจัดการให้บวชเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นอุปัชฌาจารย์  นายชิต บุรทัต  เป็นผู้รักรู้ รักเรียน มีความรู้ในภาษาบาลีและฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้  นายชิตเริ่มการประพันธ์เมื่ออายุ
18 ปี  ขณะนั้นได้กลับมาบวชเป็นสามเณรอีกเป็นครั้งที่สอง    วัดเทพศิรินทราวาสและได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  จึงได้อุปสมบทที่วัดนี้  ในฐานะเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระวชิรญาณวโรรส  สามเณรชิตได้สร้างงานประพันธ์โดยใช้นามปากกาเป็นครั้งแรกว่า “เอกชน” จนเจริญรุ่งโรจน์ขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว 


                ในขณะที่สามเณรชิตมีอายุเพียง 18 ปี  ก็ได้รับอาราธนาจากองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454  ด้วยผู้หนึ่ง  ต่อมาในปีพ.ศ. 2458  นายชิต บุรทัตซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้วได้ส่งบทประพันธ์กาพย์ปลุกใจลงในหนังสือพิมพ์ "สมุทรสาร" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรต้นฉบับเดิม  พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ขอถ่าพภาพเจ้าของบทกาพย์ปลุกใจลงพิมพ์ประกอบด้วย

                 นายชิตใช้นามสกุลเดิมว่า  ชวางกูร  ต่อมาในปี พ.ศ. 2459  จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุรทัต" และในปีเดียวกันนั้นเองนายชิต บุรทัตได้สมรสกับจั่น  แต่หามีบุตรธิดาด้วยกันไม่  นามปากกาของชิต บุรทัต คือ "เจ้าเงาะ"เอกชน” “แมวคราวใช้ในการประพันธ์บทความต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เสมอมาจนตลอดอายุ

                นายชิต  บุรทัตถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2485 ด้วยโรคลำไส้พิการ ณ บ้านถนนวิสุทธิกษัตริย์  รวมอายุได้ 50 ปี  สำนักงานสุดท้ายที่ประจำอยู่คือหนังสือพิมพ์เอกช

นามปากกา

เจ้าเงาะ, เอกชน, แมวคราว



การประพันธ์

ขณะบวชนั้น สามเณรชิตได้รับอาราธนาจากองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454 ด้วย

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2458 นายชิต บุรทัต ซึ่งลาสิกขาแล้ว ได้ส่งบทประพันธ์เป็นกาพย์ปลุกใจ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สมุทสาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร ก็พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก โปรดฯ ให้เจ้าหน้าที่ของภาพถ่ายเจ้าของบทประพันธ์นั้นด้วย

 

ผลงาน

นายชิต บุรทัตได้สร้างผลงานร้อยกรองที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยเฉพาะ 
สามัคคีเภทคำฉันท์ (พ.ศ. 2457) มีบทร้อยกรองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ข้อความโฆษณาเป็นร้อยกรอง และท่านยังมีชื่อเสียงในการแต่งร้อยแก้วซึ่งสามารถอ่านอย่างร้อยกรองไว้ในบทเดียวกัน ขณะที่คำฉันท์นั้น ก็ยังสามารถใช้คำง่ายๆ มาลงครุลหุได้อย่างเหมาะสม ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักแต่งฉันท์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งของไทย แม้จนปัจจุบันนี้


บทประพันธ์

คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์ จึงเรียกว่า คำฉันท์ นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกดเสมอ
                ลักษณะเด่นของ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีที่มีความงดงาม ใช้ถ้อยคำอย่างละเมียดละไม
โอ่อ่าอลังการในการใช้แบบแผนฉันทลักษณ์ของกาพย์และฉันท์เช่น การใช้สัททุลลวิกกีฬิต

ฉันท์แต่งบทไหว้ครู หรือการใช้มาลินีฉันท์  และสัทธราฉันท์แต่งบทขรึมขลัง  การใช้กาพย์และ

ฉันท์ลักษณะอื่นๆ  ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหา อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว เกรี้ยวกราด ตกใจ ผาดโผน  ลีลาอ่อนไหวโน้มน้ำใจ หรือเศร้าสังเวช  จนกล่าวได้ว่า เอกภาพของเนื้อหาและรูปแบบฉันทลักษณ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นแต่งได้ดียิ่ง  ควรเป้นแบบอย่างในการศึกษาเรียนรู้

 


ชนิดของฉันท์ที่ใช้แต่ง
1.  จิตรปทาฉันท์
ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค วรรคละ ๔ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)  ลหุ (สระอุ) ในการแต่ง

                             คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒

                             สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓


ตัวอย่าง

นาครธา                 นิวิสาลี
เห็นริปุมี                                พลมากมาย
ข้ามติรชล                              ก็ลุพ้นหมาย
มุ่งจะทลาย                            พระนครตน

 

2.  ภุชงคประยาตฉันท์
ลักษณะการแต่ง    มี ๔ วรรค วรรคหน้า ๖ คำ วรรคหลัง ๖ คำ  แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ) 
                                   ลหุ (สระ      อุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓
                                   ของ วรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓  

ตัวอย่าง

ทิชงค์ชาติฉลาดยล                              คะเนกลคะนึงการ
กษัตริย์ลิจฉวีวาร                                  ระวังเหือดระเเวงหาย
                เหมาะแก่การณ์จะเสกสรร                ปวัตน์วัญจโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสาย                                             สมัครสนธิ์สโมสร

 

 

3.  มาณวกฉันท์
ลักษณะการแต่ง       มี ๔ วรรค วรรคละ ๔ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)  ลหุ (สระอุ) ในการแต่ง

                               คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๑ ของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒

                               สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓

 
ตัวอย่าง

ล่วงลุประมาณ     กาลอนุกรม
หนึ่ง ณ นิยม                        ท่านทวิชงค์

เมื่อจะประสิทธิ์                   วิทยะยง
เชิญวรองค์                            เอกกุมาร

 

4.  วิชชุมมาลาฉันท์           
ลักษณะการแต่ง
     มี ๔ วรรค วรรคละ ๔ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)  ในการแต่ง

                             คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๒ ของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒

                             สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓    


ตัวอย่าง

ข่าวเศิกเอิกอึง       ทราบถึงบัดดล
ในหมู่ผู้คน                            ชาวเวสาลี
แทบทุกถิ่นหมด                   ชนบทบูรี
อกสั่นขวัญหนี                     หวาดกลัวทั่วไป

 

5.  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์

ลักษณะการแต่ง     มี ๓ วรรค วรรคที่ ๑ มี ๑๒ คำ วรรคที่ ๒ มี ๕ คำ วรรคที่ ๓ มี ๒ คำ แต่งโดย
                                  ใช้คำครุ (สระ อะ)
  ลหุ (สระอุ) ในการแต่ง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับ
                                  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒


ตัวอย่าง

จอมทัพมาคธราษฎร์ ธ ยาตรพยุหกรี

ธาสู่วิสาลี                                                              นคร
                โดยทางอันทวารเปิดนรนิกร
ฤๅรอจะต่อรอน                                                    อะไร

 

6.  สัทธราฉันท์

ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค วรรคที่ ๑ มี ๗ คำ วรรคที่ ๒ มี ๗ คำ วรรคที่ ๓ มี ๔ คำ วรรคที่ ๔
                                   มี ๓ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)
  ลหุ (สระอุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรค
                                   ที่ ๑
 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับ
                                   คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
  

 
ตัวอย่าง

ลำดับนั้นวัสสการพราหมณ์              ธ ก็ยุศิษยตาม
แต่งอุบายงาม                                       ฉงนงำ

ปวงโอรสลิจฉวีดำ            ริณวิรุธก็สำ

คัญประดุจคำ                         ธ เสกสรร

 

7.  สาลินีฉันท์

   ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค  วรรคหน้า ๕ คำ  วรรคหลัง ๖ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ) 
                                      ลหุ (สระอุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้าย
                                      ของวรรคที่ ๓              

 
ตัวอย่าง

พราหมณ์ครูรู้สังเกต                           ตระหนักเหตุถนัดครัน

ราชาวัชชีสรร                                       พจักสู่พินาศสม
                ยินดีบัดนี้กิจ                          จะสัมฤทธิ์มนารมณ์
เริ่มมาด้วยปรากรม                                              และอุตสาหแห่งตน

 

8.  อินทรวิเชียรฉันท์

ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค วรรคหน้า ๕ คำ  วรรคหลัง ๖ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ) 
                                   ลหุ (สระอุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
                                   คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓

 

ตัวอย่าง

ปิ่นเขตมคธขัต     ติยรัชธำรง

ยั้งทัพประทับตรง                                นคเรศวิสาลี

ภูธร ธ สังเกต       พิเคราะห์เหตุ ณ ธานี
แห่งราชวัชชี                        ขณะเศิกประชิดแดน

 

9.  อุปัฏฐิตาฉันท์

ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค  วรรคหน้า ๕ คำ  วรรคหลัง ๖ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ) 
                                   ลหุ (สระอุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
                                   คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓


ตัวอย่าง

เห็นเชิงพิเคราะห์ช่อง        ชนะคล่องประสบสม

พราหมณ์เวทอุดม                               ธ ก็ลอบเเถลงการณ์
                ให้วัลลภชน                          คมดลประเทศฐาน
กราบทูลนฤบาล                                   อภิเผ้ามคธไกร

 

10.  อุเปนทรวิเชียรฉันท์

   ลักษณะการแต่ง     มี ๔ วรรค วรรคหน้า ๕ คำ  วรรคหลัง ๖ คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ) 
                                      ลหุ (สระอุ) ในการแต่งคำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓
                                      ของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓



ตัวอย่าง

ทิชงค์เจาะจงเจตน์                              กลห์เหตุยุยงเสริม

กระหน่ำและซ้ำเติม                                            นฤพัทธก่อการณ์

ละครั้งระหว่างครา                             ทินวารนานนาน
เหมาะท่าทิชาจารย์                                              ธ ก็เชิญเสด็จไป

 

 

เรื่องย่อ

 ในกาลโบราณมีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู  ทรงครอบครองแคว้นมคธ  มีราชคฤห์เป็นเมืองหลวง  พระองค์ทรงมีอำมาตย์ที่สนิทคนหนึ่งชื่อว่า วัสสการพราหมณ์  เป็นผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์และเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป  พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชประสงค์จะปราบแคว้นวัชชีอันมีพวกกษัตริย์ลิจฉวีปกครอง  แต่พระองค์ยังลังเลพระทัยเมื่อได้ทรงทราบว่ากษัตริย์ลิจฉวีทุก ๆ พระองค์ล้วนแต่ทรงตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7”  คือธรรมอันเป็นไปเพื่อเหตุแห่งความเจริญฝ่ายเดียว  มีทั้งหมด  7  ประการ

                ดังนั้นพระองค์จึงปรึกษาโดยเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์ว่าควรจะกระทำอย่างไรจึงจะหาอุบายทำลายเหตุแห่งความพร้อมเพรียงของพวกกษัตริย์ลิจฉวีได้  เมื่อได้ตกลงนัดแนะกับวัสสการพราหมณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  วันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการ  จึงดำรัสเป็นเชิงหารือกับพวกอำมาตย์ในเรื่องจะยกทัพไปรบกับแคว้นวัชชี  มีวัสสการพราหมณ์เพียงผู้เดียวที่กราบทูลเป็นเชิงทักท้วงและขอให้พระองค์ทรงยับยั้งรอไว้ก่อนเพื่อเห็นแก่มิตรภาพและความสงบ  ทั้งทำนายว่าถ้ารบก็จะพ่ายแพ้ด้วย

         พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงฟังวัสสการพราหมณ์กราบทูลเป็นถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นนั้น  ก็ทรงแสร้งแสดงพระอาการพิโรธ  และมีพระราชโองการสั่งเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายนครบาลพร้อมด้วยราชบุรุษ  ให้นำตัววัสสการพราหมณ์ไปลงโทษตามคำพิพากษาในบทพระอัยการ  คือ  เฆี่ยน  โกนผม  ประจาน  แล้วขับไล่ไปเสียไม่ให้อยู่ในพระราชอาณาเขต

                วัสสการพราหมณ์ยอมทนรับราชอาญาด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัสถึงแก่สลบ  เมื่อถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธก็เดินทางมุ่งตรงไปเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีและเที่ยวผูกไมตรีกับบรรดาชาวเมือง  จนข่าวนี้ทราบไปถึงกษัตริย์ลิจฉวี  จึงได้ตีกลองสำคัญขึ้นเป็นสัญญาณ  เชิญกษัตริย์ทั้งปวงมาชุมนุมปรึกษาราชการ  เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีประชุมกันแล้วก็ได้ตกลงกันว่าควรให้พราหมณ์ผู้นั้นเข้ามาเพื่อจะได้เห็นท่าทางและฟังความดูก่อนว่าจะจริงเท็จอย่างไร

                ภายหลังที่วัสสการพราหมณ์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวีและกราบทูลข้อความต่าง ๆ ด้วยความฉลาดลึกซึ้ง  ประกอบกับมีรอยถูกโบยฟกช้ำให้เห็น กษัตริย์ลิจฉวีทุกพระองค์ต่างก็ทรงหมดความฉงนสนเท่ห์ว่าจะเป็นกลอุบาย จึงทรงตั้งให้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่บรรดาราชกุมารและกระทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

                วัสสการพราหมณ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจและเอาใจใส่  จนเป็นที่ไว้ใจในหมู่กษัตริย์ลิจฉวี  เมื่อวัสสการพราหมณ์คาดคะเนว่าพวกกษัตริย์ลิจฉวีวางใจตนจนหมดความสงสัย  วัสสการพราหมณ์จึงได้ดำเนินอุบายเพื่อทำลายความพร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกันของกษัตริย์ลิจฉวี  โดยการแต่งอุบายลับชวนให้ฉงนสนเท่ห์ต่าง ๆ ขึ้น  เป็นเครื่องยั่วยุราชกุมารทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ให้แตกร้าวกัน  และวัสสการพราหมณ์คอยส่งเสริมเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทให้บังเกิดขึ้นในหมู่ราชกุมารอยู่เนืองนิตย์  จนกระทั่งที่สุดราชกุมารทุกพระองค์ก็แตกความสามัคคีกันเป็นเหตุให้วิวาทกันขึ้น  ครั้นแล้วต่างองค์ก็นำความนั้นขึ้นกราบทูลชนกของตนตามเรื่องที่เป็นมา  เมื่อเป็นเช่นนั้นความแตกร้าวก็ลามไปถึงบรรดาชนกผู้ซึ่งเชื่อถ้อยคำโอรสของตนโดยปราศจากการไตร่ตรอง

         จนกระทั่งเวลาล่วงไปสามปี  สามัคคีธรรมในระหว่างพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ถูกทำลายสิ้น  วัสสการพราหมณ์เห็นว่ากษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์แตกสามัคคีกันแล้ว  ก็ให้คนลอบนำความไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู

      พระเจ้าอชาตศัตรูก็กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี  พวกชาวเมืองเวสาลีตกใจกลัวภัยอันเกิดแต่ข้าศึก  มุขมนตรีจึงได้ตีกลองสำคัญขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณให้ยกทัพมาต่อสู้  แต่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีก็หาไปเข้าร่วมประชุมไม่  ต่างองค์ทรงเพิกเฉยเสีย  แม้แต่ประตูเมืองทุกทิศก็ไม่มีใครสั่งให้ปิด  พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้แคว้นวัชชีโดยง่าย    ไม่ต้องเปลืองแรงรี้พลเพราะการรบเลย    เมื่อจัดการบ้านเมืองราบคาบแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกกองทัพเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ดังเดิม




 

วิเคราะห์เนื้อเรื่อง

 

โครงเรื่อง

เริ่มต้นด้วยกษัตริย์แคว้นหนึ่งต้องการแผ่อำนาจเข้าครอบครองแคว้นใกล้เคียง  แต่กษัตริย์ผู้ครองแคว้นนั้นยึดมั่นในอปริหานิยธรรม  มีความสามัคคีปรองดองมั่นคง  กษัตริย์ผู้ต้องการแผ่อำนาจจึงต้องใช้อุบายส่งพราหมณ์ปุโรหิตของตนเข้าไปเป็นไส้ศึก  หาวิธีทำลายความสามัคคีของกษัตริย์แคว้นนั้นเสียก่อน  แล้วจึงยกทัพเข้าโจมตี  พราหมณ์ปุโรหิตใช้เวลาถึง 3 ปีจึงดำเนินกลอุบายทำลายความสามัคคีได้สำเร็จ  กษัตริย์แคว้นนั้นก็แผ่อำนาจเข้าครอบครองแคว้นข้างเคียงเป็นผลสำเร็จ


แก่นเรื่อง

1. โทษของการแตกสามัคคี

2. การใช้สติปัญญาเอาชนะฝ่ายศัตรู

3. การใช้วิจารณญาณก่อนที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดย่อมเป็นการดี

4. การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

 

วิเคราะห์ตัวละคร

1.  พระเจ้าอชาตศัตรู

                1.1 ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์ ดังฉันท์ที่ว่า

                 แว่นแคว้นมคธนครรา-                               ชคฤห์ฐานบูรี

สืบราชวัตวิธทวี                                                      ทศธรรมจรรยา

                เลื่องหล้ามหาอุตตมลาภ                               คุณภาพพระเมตตา

แผ่เพียงชนกกรุณอา                                           ทรบุตรธิดาตน

                1.2 ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง  บ้านเมืองได้รับการทำนุบำรุงจนกระทั่งมีแสนยานุภาพ ประชาชนสุขสงบ มีมหรสพให้บันเทิง เช่น

                หอรบจะรับริปุผิรอ                        รณท้อหทัยหมาย

มุ่งยุทธย่อมชิวมลาย                                           และประลาตมิอาจทน

               พร้อมพรั่งสะพรึบพหลรณ           พยุห์พลทหารชาญ

อำมาตย์และราชบริวาร                                      วุฒิเสวกากร

              เนืองแน่นขนัดอัศวพา                     หนชาติกุญชร

ชาญศึกสมรรถสุรสมร                                       ชยเพิกริปูภินท์

              กลางวันอนันตคณนา                      นรคลาคละไลเนือง

กลางคืนมหุสสวะประเทือง                              ดุริยศัพทดีดสี

              บรรสานผสมสรนินาท                    พิณพาทย์และเภรี

แซ่โสตสดับเสนาะฤดี                                        อุระล้ำระเริงใจ

                1.3  ทรงมีพระราชดำริจะแผ่พระบรมเดชานุภาพ  โดยจะกรีธาทัพไปตีแคว้นวัชชี  ดังนี้

             สมัยหนึ่งจึ่งผู้ภูมิบาล                        ทรงจินตนาการ

จะแผ่อำนาจอาณา

            ให้ราบปราบเพื่อเกื้อปรา-                  กฎไผทไพศา

 ลรัฐจังหวัดวัช


2. วัสสการพราหมณ์

       วัสสการพราหมณ์เป็นปุโรหิตแห่งแคว้นมคธ เป็นผู้เฉลียวฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์  ดังคำประพันธ์ที่ว่า

             อันอัครปุโรหิตาจารย์                                        พราหมณ์นามวัสสการ

ฉลาดเฉลียวเชี่ยวชิน            

                กลเวทโกวิทจิตจินต์                                            สำแดงแจ้งศิล

ศาสตร์ก็จบสบสรรพ์


ลักษณะนิสัยของวัสสการพราหมณ์

                2.1 รักชาติบ้านเมือง ยอมเสียสละเพื่อประเทศชาติ  เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงปรึกษากับวัสสการพราหมณ์เรื่องที่จะทรงแผ่พระบรมเดชานุภาพเอาเมืองวัชชีไว้ในครอบครองและวัสสการพราหมณ์กราบทูลกลอุบายและวิธีการนั้น  วัสสการพราหมณ์จะต้องกราบทูลขัดแย้งพระราชดำริของพระเจ้าอชาตศัตรูทำให้ถูกลงพระราชอาญาอย่างหนัก  แต่วัสสการพราหมณ์ก็ยอมรับ  ทั้งนี้เพื่อจะได้ไปอาศัยอยู่ที่แคว้นวัชชีและดำเนินอุบายทำลายความสามัคคีได้สะดวก ดังฉันท์ที่ว่า


              ไป่เห็นกะเจ็บแสบ                           ชิวแทบจะทำลาย

มอบสัตย์สมรรถหมาย                       มนมั่นมิหวั่นไหว

หวังแผนเพื่อแผ่นดิน                                         ผิถวิลสะดวกใด

เกื้อกิจสฤษฎ์ไป                                   บมิเลี่ยงละเบี่ยงเบือน


                2.2 จงรักภักดีต่อพระเจ้าอชาตศัตรู  ดังฉันท์ที่พรรณนาไว้ตอนวัสสการพราหมณ์ต้องโทษดังนี้

                โดยเต็มกตัญญู                                     กตเวทิตาครัน

ใหญ่ยิ่งและยากอัน                                             นรอื่นจะอาจทน

                หยั่งชอบนิยมเชื่อ                                สละเนื้อและเลือดตน

ยอมรับทุเรศผล                                                    ขรการณ์พะพานกาย

                ไป่เห็นกะเจ็บแสบ                              ชิวแทบจะทำลาย

มอบสัตย์สมรรถหมาย                                       มนมั่นมิหวั่นไหว


          2.3 วัสสการพราหมณ์เป็นคนเฉลียวฉลาด มีไหวพริบและรอบคอบในการดำเนินกลอุบายด้วยความเฉียบแหลมลึกซึ้ง รู้การควรทำและไม่ควรทำ รอจังหวะและโอกาส  การดำเนินงานจึงมีขั้นตอน  มีระยะเวลา  นับว่าเป็นคนมีแผนงาน ใจเย็น ดำเนินงานด้วยความรอบคอบ มีสติ เป็นคุณลักษณะที่ทำให้วัสสการพราหมณ์ดำเนินกลอุบายจนสำเร็จผล  เห็นได้ชัดเจนในขณะที่วัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้าฯกษัตริย์ลิจฉวีและได้กล่าวสรรเสริญน้ำพระราชหฤทัยกษัตริย์ลิจฉวีทำให้เกิดความพอพระราชหฤทัย

            
                เปรียบปานมหรรณพนที                                   ทะนุที่ประทังความ

ร้อนกายกระหายอุทกยาม                                                  นรหากประสบเห็น

                เอิบอิ่มกระหยิ่มหทยคราว                 ระอุผ่าวก็ผ่อนเย็น

ยังอุณหมุญจนะและเป็น                                                   สุขปีติดีใจ

                วัชชีบวรนครสรร                                                พจะขันจะเข้มแขง

รี้พลสกลพิริยแรง                                                                รณการกล้าหาญ

                มาคธไผทรฐนิกร                                                พลอ่อนบชำนาญ

ทั้งสิ้นจะสู้สมรราญ                                                            ริปุนั้นไฉนไหว

                ดั่งอินทโคปกะผวา                                              มุหฝ่าณกองไฟ

หิ่งห้อยสิแข่งสุริยะไหน                                                    จะมิน่าชิวาลาญ


                2.4 มีความรอบคอบ  แม้ว่าวัสสการพราหมณ์จะรู้ชัดว่าบรรดากษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคีกัน  แต่ด้วยความรอบคอบก็ลองตีกลองเรียกประชุม  บรรดากษัตริย์ลิจฉวีก็ไม่เสด็จมาประชุมกันเลย
                วัชชีภูมีผอง                          สดับกลองกระหึมขาน

ทุกไท้ไป่เอาภาร                                  ณกิจเพื่อเสด็จไป

ต่างทรงรับสั่งว่า                                  จะเรียกหาประชุมไย

เราใช่คนใหญ่ใจ                                  ก็ขลาดกลัวบกล้าหาญ


                2.5 ความเพียร  วัสสการพราหมณ์ใช้เวลา 3 ปีในการดำเนินการเพื่อให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแตกสามัคคีกันซึ่งนับว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมาก


               ครั้นล่วงสามปีประมาณมา             สหกรณประดา

ลิจฉวีรา                                                                 ชทั้งหลาย

                สามัคคีธรรมทำลาย                            มิตรภิทนะกระจาย 

สรรพเสื่อมหายน์                                                ก็เป็นไป

 

3.  กษัตริย์ลิจฉวี

                3.1 ทรงตั้งมั่นในธรรม  กษัตริย์ลิจฉวีล้วนทรงยึดมั่นในอปริหานิยธรรม (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม) ๗ ประการ ได้แก่

                หนึ่ง  เมื่อมีราชกิจใด                       ปรึกษากันไปบ่วาย

บ่หน่ายชุมนุม

                สอง  ย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม    พร้อมพรักพรรคคุม

ประกอบณกิจควรทำ

สาม  นั้นถือมั่นในสัม                                        มาจารีตจำ

ประพฤติมิตัดดัดแปลง

                สี่  ใครเป็นใหญ่ได้แจง                      โอวาทศาสน์แสดง

ก็ยอมและน้อมบูชา

                ห้า  นั้นอันบุตรภริยา                          แห่งใครไป่ปรา-

รภประทุษข่มเหง

                หก  ที่เจดีย์คนเกรง                             มิย่ำยำเยง

ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี

                เจ็ด  พระอรหันต์อันมี                       ในรัฐวัชชี

ก็คุ้มก็ครองป้องกัน


                3.2ขาดวิจารณญาณ  ทรงเชื่อพระโอรสของพระองค์ที่ทูลเรื่องราวซึ่งวัสสการพราหมณ์ยุแหย่โดยไม่ทรงพิจารณา เช่น

                ต่างองค์นำความมิงามทูล                  พระชนกอดิศูร

แห่ง ธ โดยมูล                                                     ปวัตติ์ความ

                แตกร้าวก้าวร้ายก็ป้ายปาม  ลุวรบิดรลาม

ทีละน้อยตาม                                                        ณเหตุผล


                3.3ทิฐิเกินเหตุ  แม้เมื่อบ้านเมืองกำลังจะถูกศัตรูรุกราน เช่น

                ศัพทอุโฆษ                                            ประลุโสตท้าว

ลิจฉวีด้าว                                                               ขณะทรงฟัง

ต่างธก็เฉย                                                             และละเลยดัง

ไท้มิอินัง                                                               ธุระกับใคร
ต่างก็บคลา                                            ณสภาคาร

แม้พระทวาร                                                        บุรทั่วไป

รอบทิศด้าน                                                          และทวารใด

เห็นนรไหน                                                         สิจะปิดมี


ฉาก

                เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องที่เรารับมาจากอินเดีย  กวีจึงพยายามพรรณนาฉากให้บรรยากาศของเรื่องเป็นประเทศอินเดียในสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู  แต่กวีเป็นคนไทยดังนั้นฉากจึงมีความเป็นไทยแทรกอยู่บ้าง เช่น การพรรณนาชมบ้านเมือง


อำพนพระมนทิรพระราช                                 สุนิวาสวโรฬาร์

อัพภันตรไพจิตรและพา                                                    หิรภาคก็พึงชม

เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                                       นมหาพิมานรมย์

มารังสฤษฎ์พิศนิยม                                                            ผิจะเทียบก็เทียมทัน

สามยอดตลอดระยะระยับ                 วะวะวับสลับพรรณ

ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                                                   จะเยาะยั่วทิฆัมพร

บราลีพิลาศศุภจรูญ                                             นภศูลประภัสสร

หางหงส์ผจงพิจิตรงอน                                                     ดุจกวักนภาลัย


                นับว่าเป็นบทพรรณนาชมบ้านเมืองที่ไพเราะทั้งเสียง จังหวะและลีลา  นัยว่านายชิต  บุรทัตพรรณนาตอนนี้จากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แต่ไม่ใช่ข้อบกพร่องเสียหายเพราะธรรมดากวีย่อมบรรยายจากสิ่งที่ได้เคยพบเห็น  เรียกกันว่าเป็นอนุโลมกวี  คือกวียานุโลมแม้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาก็พรรณนาชมบ้านเมืองของกษัตริย์ชวาตามลักษณะของกรุงเทพฯ เช่นกัน

                การพรรณนากระบวนทัพช้างและทัพม้าตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกรีธาทัพนั้น  นับว่าพรรณนาได้อย่างน่าเกรงขาม  เช่น

                ขุนคชขึ้นคชชินชาญ                    คุมพลคชสาร

ละตัวกำแหงแข็งขัน

                เคยเศิกเข้าศึกฮึกครัน                  เสียงเพรียกเรียกมัน

คำรณประดุจเดือดดาล


                การพรรณนาชมธรรมชาติซึ่งนับว่านิยมมากในวรรณคดีไทย  แต่ในสามัคคีเภทคำฉันท์ขาดรสนี้ไป  ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกขับก็ดี  หรือตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพก็ดี  น่าจะมีบทพรรณนาชมธรรมชาติบ้าง  แต่ผู้แต่งเพียงพรรณนาสรุปสั้น ๆ ว่า

                แรมทางกลางเถื่อน                       ห่างเพื่อนหาผู้

หนึ่งใดนึกดู                                            เห็นใครไป่มี

หลายวันถั่นล่วง                                      เมืองหลวงธานี

นามเวสาลี                                              ดุ่มเดาเข้าไป

 

การใช้ภาษา

อุปมา
 หมายถึง การเปรียบเทียบ เช่น ดุจ ประดุจ ดัง เพียง ราว ราวกับว่า
                ตัวอย่าง
                                ลูกข่างประดาทา                    รกกาลขว้างไป
                หมุนเล่นสนุกไฉน
                             ดุจกันฉะนั้นหนอ



อติพจน์หรืออธิพจน์
หมายถึง  การใช้โวหารโลดโผนเกินความจริง  เป็นการกล่าวในแง่อารมณ์หรือความรู้สึก  ที่มีความรุนแรง  เพื่อเร้าอารมณ์ให้เกิดความหนักแน่น  ซาบซึ้ง  เคลิบเคลิ้มหรือคล้อยตาม 
               


 

ตัวอย่าง

ตื่นตาหน้าเผือด       หมดเลีอดสั่นกาย
หลบลี้หนีตาย
                       วุ่นหวั่นพรั่นใจ
ซุกครอกซอกครัว
                 ซ่อนตัวแตกภัย
เข้าดงพงไพร                         ทิ้งย่านบ้านตน

ต่างก็ตระหนก     มนอกเต้น
ตื่น บ มิเว้น                          ตะละผู้คน

ทั่วบุรคา                 มจลาจร

เสียงอลวน                            อลเวงไป

 

 




สาธกโวหาร    
หมายถึงโวหารที่แสดงตัวอย่างหรือเรื่องราวประกอบ
  โดยส่วนใหญ่แทรกไว้ในเทศนาโวหารและบรรยายโวหาร

               ตัวอย่าง

อันภูบดีรา                                   ชอชาตศัตรู

ได้ลิจฉวีภู                                                 วประเทศสะดวกดี

แลสรรพบรรดา                           วรราชวัชชี

ถึงซึ่งพิบัติบี                                              ฑอนัตถ์พินาศหนา

 เหี้ยมนั้นเพราะผันแผก               คณะแตกและต่างมา

ถือทิฐิมานสา                                                         หสโทษพิโรธจอง

แยกพรรคสมรรคภิน                    ทนสิ้น บ ปรองดอง

           ขาดญาณพิจารณ์ตรอง                                         ตริมลักประจักษ์เจือ

                            เชื่ออรรถยุบลเอา                          รสเล่าก็ง่ายเหลือ

              เหตุหาก ธ มากเมือ                                     คติโมหเป็นมูล

                             จึ่งดาลประการหา                         ยนภาวอาดูร

                เสียแดนไผทศูนย์                                       ยศศักดิเสื่อมนาม

 

การเลือกสรรความ

                เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องไปตามลำดับไม่สับสนทำให้ผู้อ่านเข้าใจตลอดทั้งเรื่อง  นายชิต  บุรทัตเลือกสรรความได้อย่างกระชับทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว เช่น ตอนที่วัสสการพราหมณ์ถูกลงพระราชอาญาแล้วเนรเทศจากแคว้นมคธมีการบทคร่ำครวญพอสมควรเท่านั้น

                นอกจากนี้วรรณคดีประเภทฉันท์นั้นกวีจะต้องเลือกใช้ฉันท์ให้เหมาะสมกับความ  เพราะฉันท์แต่ละชนิดมีลีลาและให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป  ซึ่งนายชิต  บุรทัตก็เลือกใช้ฉันท์ได้อย่างเหมาะสม  เช่น


สัททุลวิกกีฬิตฉันท์  ลีลาท่วงทำนองเคร่งขรึม  ใช้ในบทประณามพจน์

วสันตดิลกฉันท์  ลีลาจังหวะสละสลวย   ใช้พรรณนาชมบ้านเมือง

อิทิสังฉันท์  ลีลากระแทกกระทั้น  ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูกริ้ว

จิตรปทาฉันท์  ลีลาคึกคัก เร่งเร้า กระชั้น ใช้แสดงความตกใจเมื่อศึกมาประชิด

อินทรวิเชียรฉันท์ ลีลาสละสลวย   ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ถูกเนรเทศ

มาณวกฉันท์  ลีลาเร่งเร้าผาดโผน ใช้ตอนวัสสการพราหมณ์ยุพระกุมาร

โตฎกฉันท์   ลีลากระชั้น  คึกคัก   ใช้ตอนพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพ